สมองตัดสินด้วยหัวใจ

“ในวันที่พ่อของฉันจากโลกนี้ไป ฉันบอกว่า ขอโทษ หนูขอโทษ เป็นร้อยๆ ครั้งได้ และตอนนั้น พ่อก็พูดตอบฉันว่า นับตั้งแต่วันที่ลูกเกิดมา พ่อก็ได้อยู่บนสวรรค์มาโดยตลอดเลย” คุณผู้อ่านทราบไหมครับว่า ‘สมองตัดสินด้วยหัวใจ’แปลว่าอะไร?

สมองส่วนใหญ่ของมนุษย์ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล Limbic System หรือระบบสมองที่ควบคุมอารมณ์มีความซับซ้อนและรวดเร็วในการทำงานมากกว่า Prefrontal Cortex หรือสมองที่ใช้ในการวางแผนและตัดสินใจที่อุ้ยอ้ายและคิดอะไรช้ากว่า

Dr. Daniel Kahneman รับรางวัลโนเบลปี 2002 สาขาเศรษฐศาสตร์หลังพิสูจน์ว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นสัตว์แห่งเหตุผล แต่เป็นสัตว์แห่งอารมณ์ อธิบายให้เห็นภาพได้ด้วยคิวน้องหมีเนยยาวเหยียดที่คนแย่งกันเข้าถ้าไม่ใช่แนวรางวัลโนเบลหรือหมีเนย หลายๆคนอาจรู้จักบทเล่าเรื่องข้างต้น ของลูกสาวอันเป็นสุดที่รักของพ่อคนหนึ่ง When Life Gives You Tangerines หรือ ยิ้มไว้ในวันที่ส้มไม่หวาน โดย Director คิมวอนซอก (Kim Won-Seok) และเป็นผลงานการเขียนบทในรอบ 6 ปีของอิมซังชุน (Im Sang-Choon) หาดูได้ใน Netflix

“เวลาลมพัดแรงน่ากลัว ให้มองอะไรรู้ไหม เห็นไฟจิ๋วๆ ไกลๆ โน่นไหม นั่นคือไฟเรือประมง มองไปแค่ตรงนั้นก็พอ พอคิดว่าเรือลำนั้นก็คงเหงา คงกลัวเหมือนกัน ความรู้สึกกลัวก็น้อยลง พอคิดว่ามีคนไปด้วยกันก็เลยพอไหว พ่อกับแม่แล่นเรือข้างลูกเสมอนะ ถ้าหิวเมื่อไหร่ก็กลับมาได้เลย ไม่ต้องลังเล ถ้าไม่ใช่ก็แค่หันหลังกลับ วิ่งมาหาพ่อ โอเคไหม”

สมองยังต้องยอมให้หัวใจเพราะอะไรน่ะหรือ? เพราะมนุษย์เรามีวันนี้ได้จากการไม่ละเลยความสำคัญของอารมณ์ เพิ่งจะมาช่วงหลังนี้เอง (ประมาณห้าร้อยปีของโลกแห่งมนุษย์เงินเดือน) ที่เราพยายามฝึกสมองให้เป็นเหตุเป็นผล ก่อนหน้านั้นสมองของเรามีหน้าที่หลักคือใช้สัญชาตญานในการเอาตัวและเผ่าพันธุ์ให้รอดจากอันตรายในแต่ละวัน ความรู้สึกต่างๆในใจเรา ความรัก ความผูกพัน ความชัง ความหมั่นไส้ ฯลฯ ล้วนเป็นภาษาสมองอันสำคัญยิ่ง ผู้นำอย่ามองข้าม

ถ้าเลือกได้ ธรรมชาติของสมองอยากใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล บางครั้งก็เป็นคุณ เช่นการสร้างแรงบันดาลใจให้ฮึดสู้เหนือความท้าทาย บางครั้งก็เป็นโทษ เช่นพูดโครมออกไปโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน ลูกน้องแรงมาเราแรงไป เป็นต้น

การแตะตรงหัวใจนี้ เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่เทคโนโลยี ‘ยัง’ เข้าไม่ถึง ผมลองถาม AI เล่นๆว่า “ถ้าอยากจะสื่อสารว่าพ่อรักลูกมาก ให้ทำอย่างไร”

 

การแสดงออกทางคำพูด: การบอกว่า “รักนะ” หรือ “ภูมิใจในตัวลูก” เป็นคำพูดที่เรียบง่ายแต่มีพลังมหาศาล

การใช้เวลาด้วยกัน: การให้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ เช่น การอ่านหนังสือด้วยกัน ทำกิจกรรมที่เขาสนใจ หรือแค่พูดคุยกันให้มากขึ้น

การสัมผัสทางกาย: กอด จับมือ หรือแตะไหล่เบา ๆ ช่วยสร้างความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย

การรับฟังและเข้าใจ: เปิดใจรับฟังสิ่งที่ลูกพูด ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือสำคัญ การรับฟังทำให้เขารู้ว่าคุณให้คุณค่าและเคารพในความคิดเห็นของเขา

การสนับสนุนและให้กำลังใจ: ช่วยเหลือเขาในสิ่งที่ทำ สนับสนุนความฝันของเขา และเป็นกำลังใจเมื่อเขาต้องเผชิญกับความท้าทาย

นี่คือคำตอบแบบเหตุผล


เมื่อยังเด็ก คิดว่าต้องจับมือพ่อไว้จึงจะอบอุ่น

แต่จากนี้แม้ว่าไม่มีพ่ออยู่เคียงข้าง ฉันก็รู้ดีว่ายังมีพ่ออยู่เสมอ

ตอนนี้ฉันมีพื้นพรมอันแสนนุ่ม แค่คิดถึงพ่อก็อบอุ่นไปทั้งหัวใจ

ฉันจะใช้ชีวิตโดยรับรู้ว่า พระจันทร์ยังคงส่องแสงแม้ในเวลากลางวัน

หากพ่อจะไป ก็ขอให้ปลิดปลิวพลิ้วไสว

เส้นทางที่พ่อสู้มาแสนยาวนาน ถึงเวลาทะยานว่อนปล่อยมือฉัน

แด่พ่อผู้เป็นทุกสิ่งและทุกอย่าง ขอบคุณที่จูงมือฉันเดินทางมาด้วยกัน

แด่พ่อผู้เป็นยอดชีวัน ผู้สร้างสวรรค์นับแต่วันที่ฉันเกิดมา

นี่คือคำตอบแบบอารมณ์

 

หากคุณอยากเป็นผู้นำที่เลิศ “ฝึกใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์เหตุผลเพื่อวางแผนและแก้ปัญหา แต่อย่าลืมฝึกตัวเองในการแตะหัวใจทีมงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย” ฝึกใช้ ‘ทั้งสมองและหัวใจ’ กับคนของคุณนะครับ

Ready to start your Leadership Journey?